ไม่มีปัญหาภาษีย้อนหลัง ถ้ารู้วิธีดึงเงินออกจากธุรกิจแบบถูกต้อง
บุคคลธรรมดา คือ ทำธุรกิจในชื่อตัวเองคนเดียว ไม่ได้จดบริษัทจดห้าง การเสียภาษีในชื่อเรา เหลือเงินเท่าไรก็เป็นของเรา ขอแค่เราแบ่งสรรจัดการสัดส่วนให้ถูกต้อง เพียงแค่นี้ก็จบแล้วนะ
นิติบุคคล คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน สำหรับกรณีที่จดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนออกมาในรูปแบบนิติบุคคล อันนี้เนี่ยถือว่าเป็น การแยกธุรกิจออกจากตัวเราแบบชัดๆ ในความสัมพันธ์ จะมี 2 ส่วน 1.ส่วนของบุคคล และ 2.ธุรกิจ (บริษัท)
ดังนั้นการจะเอาเงินออกมาค่อนข้างยากเพราะอยู่ดี ๆ จะไปดึงเงินออกมาไม่ได้ ถ้าหากทำแบบนั้น มันจะเหมือนการที่คนหนึ่งไปยืมเงินอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นลูกหนี้ เช่น ถ้าเราไปดึงเงินออกมาจากบริษัทแบบหน้าตาเฉย แบบนี้ก็เท่ากับว่าเราเป็นลูกหนี้บริษัท มีหน้าที่ต้องใช้คืน และในมุมภาษีต้องมีการคิดดอกเบี้ยเงินก้อนนี้ด้วย แถมยังอาจจะเป็นประเด็นต่างๆ ที่น่าสงสัย ทำไมกู้กัน ทำไมต้องเอาเงินไป และจะเป็นปัญหาภาษีได้ในอนาคต
วิธีแนะนำการจัดการเงินของธุรกิจแบบนิติบุคคลดังนี้
1. ค่าจ้าง
เหมาะสำหรับกรณีที่เราทำงานให้บริษัท นอกจากการเป็นผู้ถือหุ้นลงทุนแล้ว ถ้าเราทำงานในหน้าที่ต่างๆ เช่น เป็นกรรมการบริหาร ผู้จัดการ ดูแล หรือมีตำแหน่ง แบบนี้เราสามารถกำหนดค่าจ้างให้กับตัวเองได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ เงินเดือน โบนัส ที่ปรึกษา เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม ซึ่งกำหนดตามความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจนั้นๆ
2. ค่าเช่าสินทรัพย์
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจ่ายผลตอบแทนให้กับเจ้าของธุรกิจ นั่นคือถ้าหากเรามีสินทรัพย์ส่วนตัวที่ให้บริษัทเช่าเพื่อใช้ทำธุรกิจได้ โดยที่ไม่ต้องการให้เป็นของบริษัท แต่ยังเป็นสิทธิ์ของเราอยู่ เช่น บ้าน อาคาร ห้อง รถยนต์ อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ เพื่อใช้ประกอบธุรกิจ ตรงนี้ก็เป็นทางสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
โดยทั้งค่าจ้างและค่าเช่าที่ว่ามานี้ จะต้องถือเป็นรายจ่ายบริษัทในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล และเป็นเงินได้ของเราในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนกัน
3. เงินปันผล
ในกรณีที่ธุรกิจมีกำไร และเราเป็นผู้ถือหุ้น สามารถจ่ายในรูปแบบเงินปันผลได้ โดยเงินปันผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่เราถือ ยิ่งเรามีสัดส่วนการถือหุ้นมาก การจ่ายเงินปันผลก็จะได้มากขึ้นตามไปด้วย
ข้อสังเกตของเงินปันผลจะมีอยู่ 2 เรื่องทีต้องพิจารณาให้ดีนั่นคือ ธุรกิจต้องมีกำไร และ การนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมือได้รับเงิน เพราะว่าเงินปันผลสามารถเลือกที่จะหักภาษี 10% แล้วจบได้ โดยที่ไม่ต้องรวมคำนวณภาษีประจำปี ดังนั้นต้องศึกษาเรื่องของการใช้สิทธิ์ตรงนี้ให้ดีด้วย สุดท้าย รูปแบบการจ่ายผลตอบแทนต่างๆ เหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ข้อมูลที่แท้จริงของธุรกิจ ถ้าหากธุรกิจมีรายได้สูง เราก็สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับเจ้าของได้ในจำนวนที่มากขึ้น ตามความรับผิดชอบของงาน หรือ การใช้งานสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง หรือ ถ้าหากธุรกิจมีกำไรสูง เราก็สามารถจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้นเช่นกัน
อย่าลืม วางแผนโครงสร้างธุรกิจให้ดี เพื่อที่เราจะได้ออกแบบการจ่ายผลตอบแทนได้อย่างเหมาะสม
แสดงความคิดเห็น